วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

ชนิดของวัชพืช


เราสามารถแบ่งวัชพืช ได้เป็น 2 ชนิด ใหญ่ๆ คือ

    * วัชพืชน้ำ หมายถึง วัชพืชที่ขึ้นในน้ำหรือขึ้นตามริมตลิ่ง มักเป็นพืชที่มีลำต้นเล็กอ่อน ใบบาง เพื่อลู่ไปตามกระแสน้ำได้ดี มีหลายลักษณะตามสภาพที่ขึ้น คือ บางพวกลอยน้ำรากไม่หยั่งดิน เช่น จอก แหน ไข่น้ำ แหนแดง ผักตบชวา บางพวกรากต้องหยั่งดิน ใบและดอกลอยตามผิวน้ำหรืออยู่เหนือน้ำ เช่น บัว บา ตับเต่า ขาเขียด บางชนิดอยู่ใต้ผิวน้ำรากหยั่งดิน เช่น สาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายไฟ แหนปากเป็ดสาหร่ายเส้นด้าย สาหร่ายพุงชะโด บางชนิดขึ้นตามดินชื้นมาก ๆ หรือที่ที่มีน้ำขังตื้น ๆ เช่น เทียนนา แห้วทรงกระเทียม หญ้าขน หญ้านกสีชมพู วัชพืชน้ำมักเป็นวัชพืชในนาข้าว ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาด้านชลประทานและด้านประมง

    * วัชพืชบก หมายถึง วัชพืชที่เกิดบนบกแบ่งตามลักษณะทั่วไปได้เป็น ๓ ชนิด คือ ไม้ตัน ไม้พุ่ม  ไม้ล้มลุกลำต้นอ่อน  ไม้ต้นและไม้พุ่มไม่ค่อยพบว่าเป็นวัชพืชที่ร้ายแรง ทั้งนี้เพราะก่อนดำเนินการเกษตรนั้น จำเป็นต้องปรับที่โค่นต้นไม้ใหญ่ ถอนรากโคนทิ้งเสียก่อน ฉะนั้น จึงไม่ค่อยมีปัญหา ในด้านการกำจัดวัชพืชที่เป็นไม้ต้นและไม้พุ่มเท่าใดนัก นอกจากในที่ดินที่บุกเบิกใหม่เพื่อการเพาะปลูก ถ้ายังมีรากไม้ต้นและไม้พุ่มหลงเหลืออยู่ ต้องคอยหมั่นดูแลขุดทำลายเสีย หรือใช้สารกำจัดวัชพืชทำลาย โคนต้นให้เน่าผุก่อน วัชพืชก็จะค่อย ๆ ลดน้องลงไป ส่วนวัชพืชที่เป็นปัญหาในด้านการกำจัด ได้แก่ พวกไม้ต้นเล็กเนื้ออ่อนหรือพืชล้มลุก ซึ่งแบ่งออกได้ตามอายุเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งได้แก่ พืชล้มลุก อายุสั้น มีวงชีพอยู่ได้เพียงฤดูเดียว และอีกพวกหนึ่งเป็นพืชต้นเล็กเนื้ออ่อน ยืนต้น มีอายุข้ามปีหรือตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไป พืชพวกนี้มักจะมีไหล ซึ่งสามารถแตกรากตามข้อที่นอนแตะพื้นดิน เช่น แห้วหมู หญ้าชันอากาศ

ทั้งวัชพืชน้ำและวัชพืชบก ไม่ได้หมายถึง พืชที่มีดอกและเมล็ดเท่านั้น ยังรวมถึงพืชจำพวกสาหร่าย พืชไม่มีดอก ได้แก่ เฟิร์น และตะไคร่ เช่น สาหร่าย อีกด้วย วัชพืชในนาข้าวเป็นพืชพวกแอลจี แต่สาหร่ายข้าวเหนียว สาหร่ายฉัตร สาหร่ายพุงชะโด ฯลฯ เป็นพืชมีดอกและเมล็ด เฟิร์น หลายชนิดที่เป็นวัชพืชในนาข้าว ได้แก่ ผักกูดนา ผักแว่น แหนแดง จอกหูหนู นอกจากพืชที่กล่าวมาแล้ว ยังมีพวกพืชอาศัย (parasitic plants) เช่น กาฝาก ฝอยทอง

ไม่ว่าจะเป็นวัชพืชประเภทไหน ก็ต่างส่งผลเสียแก่พืชผลของเราทั้งสิ้น ดังนั้น วัชพืชจึงเป็นสิ่งที่ต้องกำจัดเพื่อไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อไป
                                            ข้อมูลจาก  http://kanchanapisek.or.th

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น