วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

เครื่องมือในการไถนา

อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการทำนา ของขั้นตอนการเตรียมดินก่อนการปลูกข้าว มีดังนี้
1. ใช้ในการขับเคลื่อน มีดังนี้ คือ ควาย รถอีแต๋น รถไถนา สามารถเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งได้
 
ควาย
รถอีแต๋น
รถไถนา
2. ใช้ในการไถ ซึ่งขอแบ่งเป็นแบบใช้ควายแบบใช้รถอีแต๋นและแบบรถไถ
     2.1 แบบใช้ควายไถนา ประกอบด้วย หัวหมู,หางยาม,แอก,ผาน,คันไถ,คราด ดังนี้
ผาน
ผาน หรือ หัวผาน จะเป็นเหล็กสามเหลี่ยม ใช้ต่อกับหัวหมู เป็นตัวไถพลิกหน้าดิน
หัวหมู
หัวหมู จะเป็นส่วนที่ทำให้ดินผลิกออกข้างๆ ปัจจุบันหัวหมูกับผานจะรวมเป็นชิ้นเดียวกัน

รูปภาพหัวหมูที่ต่อกับผานแล้ว

คันไถที่ประกอบแล้ว

คันไถ  จะเป็นไม้ที่อยู่ในแนวนอนเป็นตัวเชื่อมระหว่างหางยามกับแอก
หางยาม หางยามเป็นไม้ที่อยู่ในแนวตั้ง ต่อกับหัวหมู ใช้เป็นตัวบังคับหัวหมูให้ไถไปในทิศทางที่ต้องการ
แอก
แอก เป็นส่วนที่ใช้คล้องกับคอควาย เพื่อช่วยบังคับควาย และเป็นแม่แรงในการทำให้ไถนาได้
คราด
 คราด ใช้ในการย่อยดินให้เล็กลง และเก็บเศษหญ้าเศษฟาง และจะมีส่วนของแผ่นไม้หรือไม้กลมๆที่ช่วยปรับระดับหน้าดิน ให้เท่ากัน ซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่าคราดปรับระดับ

ภาพแสดงการใช้ควายในการไถ



วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

ข้อดีข้อเสียของรถไถนาแต่ละยุค

 ยุคของรถไถนา ในที่นี้ ขอแบ่ง รถไถนา ออกเป็น 3 ยุค ดังนี้คือ

ยุคที่ 1 การใช้ควายในการไถนา
 ข้อดี   คือ  1. ไม่เปลืองน้ำมัน
                2. ควายถ่ายออกมาเป็นปุ๋ย ซึ่งเหมือนได้ปุ๋ยไปในตัว
                3. ควายมีน้ำหนักน้อยกว่าเครื่องยนต์ขนาดใหญ่
                    เท้าของควายมีขนาดเล็ก เหยียบดินแล้วไม่ทำให้ดินแน่น
                4. เวลาเหนื่อย เหงา เศร้า เราสามารถคุยกะควายได้ คงไม่ค่อยแปลก
                    เท่าไร่ แต่ถ้าคุยกับรถอีแต๋นอาจจะแปลกนิดหน่อย อิอิ
 ข้อเสีย คือ 1. สงสารควาย ควายมีชีวิต เหนื่อยได้
                2. ใช้เวลานานกว่าจะไถเสร็จ

ยุคที่ 2  การใช้รถอีแต๋นไถนา (แบบไถเดินตาม)
  ข้อดี  คือ  1. สามารถไถนาเสร็จเร็วขึ้นกว่าใช้ควาย
                2. ล้อของรถอีแต๋นอาจไม่เล็กเท่าเท้าควาย แต่
                    เป็นซี่เหล็กสามารถตะกุยดินไปในตัว
                3. สามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น
                    วิดน้ำเข้านา ปั่นไฟ เป็นต้น
 ข้อเสีย คือ 1. เปลืองน้ำมัน
                2. ยากต่อการบังคับ
                3. เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
                4. ในการไถนา ยังต้องเดินตามรถ ซึ่งเหนื่อยกว่ายุคที่ 3

ยุคที่ 3 การใช้รถไถนาสมัยใหม่
  ข้อดี คือ   1. การไถนาเสร็จเร็วมาก
                2.สามารถทุ่นแรงของเกษตรกรได้มาก
                3.การบังคับรถง่ายกว่ายุคที่ 2
 ข้อเสีย คือ 1. ล้อและน้ำหนักของรถยุคที่ 3 มีขนาดใหญ่มาก
                    สามารถกดทับให้พื้นดินแน่นตัว
                2.มีราคาแพง

รถอีแต๋น(ยุคแรกๆ)


รถอีแต๋น เป็นรถที่ใช้ในการทำเกษตรกรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะการทำนา รถอีแต๋นสร้างขึ้นมาโดยภูมิปัญญาของคนไทย โดยใช้อะไหล่รถใหม่หรืออะไหล่รถมือสองมาประกอบกัน หรือเรียกว่า อะไหล่เชียงกง  คำว่า รถอีแต๋น มาจากคำว่า "สะแหล๋นแต๋น" หรืออีกความหมายหนึ่ง คือ "แรด" นั่นเอง เป็นรถที่วิ่งได้ช้าและมีเสียงดังตั๋นๆ หรือ แต๋นๆ ประมาณว่า เสียงดังกว่าความเร็ว
ประโยชน์รถอีแต๋น สามารถดัดแปลงใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่นไถนา  วิดน้ำเข้านา ใช้ปั่นไฟ ใช้เป็นรถบรรทุกเป็นต้น
ลักษณะของรถอีแต๋น  จะประกอบด้วยตัวเครื่องยนต์ โครงและฐานเครื่องยนต์ ด้ามหล็กยื่นออกมาเพื่อใช้บังคับการขับเคลื่อนเจ้ารถอีแต๋น มีล้อสองล้า เป็นซี่เหล็กเพื่อใช้ตะกุยดิน กันรื่น และเมื่อนำไปใช้บนท้องถนน จะมีล้อยางเพื่อสวมคลุมล้อเหล็กอีกที  ถ้าใช้บรรทุกของจะมีกระบะต่อพ่วงอีกที ส่วนพ่วงของอีกแต๋นจะใช้สลักในการต่อพ่วง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือสายพาน สายพานมีประโยชน์มากเหมือนเป็นตัวช่วยในการประยุกต์รถอีแต๋น ให้ใช้งานได้หลายๆอย่าง
ประเทศไทยมีการส่งรถอีแต๋นไปขายยังต่างประเทศ คือประเทศลาว โดยประเทศลาวเรียกว่า รถไทยแลนด์

วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

อุปกรณ์ในการทำนา(ชุดที่ 1)

ในส่วนนี้เราจะกล่าวถึงเครื่องมือเครื่องไม้ที่ใช้ในการทำนากัน ตั้งแต่เริ่มต้นจนได้เก็บเกี่ยวกันเลย ดังนี้
 
เคียวด้ามยาม
 เคียวด้ามยาม เป็นขอเคียวที่ใช้ในการตัดหญ้า เกี่ยวเศษฟาง เศษวัชพืช ในการทำนาจะใช้ในการเก็บ
                   ฟางในนาข้าว การลากฟางข้าวมารวมกัน และใช้ประโยชน์อื่นๆ แล้วแต่สะดวก
เคียว(ขอเคียว)
เคียว  ใช้ในการเก็บเกี่ยวต้นข้าว เกี่ยววัชพืช หรือใช้ประโยชน์อื่นๆ ลักษณะของเคียวจะเป็นเหล็กโค้งเหมือนพระจันทร์เสี้ยว และมีด้ามจับอาจเป็นเหล็กหรือไม้ก็ได้ ส่วนสันเคีวยไม่มีคม ด้านในที่ใช้ในการเกี่ยวจะมีความคมมาก ถึงมากที่สุด ผู้ที่จับเคียวครั้งแรกจึงมักใช้ไม่เป็นและจึงควรระวังในการใช้อย่างมาก
กระบุง
 กระบุง ใช้ในการตักข้าว ตวงข้าว และอื่นๆ ซึ่งกระบุง จะนำมาใช้ในการหว่านข้าว ในกรณีที่ใช้หว่านข้าว จะนำผ้าหรือเชือกมาร้อยที่กระบุงเพื่อทำเป็นสายสะพาย เพื่อทำให้หว่านข้าวสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงลดการใช้แรงในการยกกระบุงข้าวลงด้วย
จอบ
 จอบ ใช้ในการขุดหรือถางวัชพืช ในการทำนามักจะใช้จอบถางวัชพืชที่เกิดขึ้นตามชายคันนา และใช้จอบในการขุดดินชามหัวคันนาที่การไถนาเข้าไม่ถึง เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการเพาะปลูก
พลัว
พลั่ว ใช้ในการขุดดิน ถางหญ้า ขุดหลุม และอื่นๆ ในการทำนามักใช้พลั่วในการขุดร่องน้ำ เพื่อระบายน้ำและใช้พลั่วขุดดินที่มีลักษนะนิ่มเหลวจะง่ายกว่าจอบ

วิธีการเตรียมดิน(ตอน การไถนา)

เมื่อเราได้กำจัดฟางข้าวในขั้นตอนที่ 1 เรียบร้อยแล้ว มาทำขั้นตอนการไถนาต่อเลย

การไถนา
   
2. การไถนา  คือ การใช้สัตว์หรือเครื่องยนต์ลากคันไถเพื่อพลิกหน้าดิน เสมือนเป็นการพรวนดินก่อนที่เราจะปลูกต้นไม้นั่นเอง ถ้าใช้สัตว์ในประเทศไทยจะนิยมใช้ ควาย ในการลากคันไถ ต่างประเทศมักนิยมใช้ม้าหรือวัว ถ้าเป็นการไถนา ด้วยเครื่องยนต์ก็จะมีวิวัฒนาการของเครื่องยนต์ไปตามยุคตามสมัย
การไถนายังสามารถแบ่งได้อีก 3 ขั้นตอนดังนี้
การไถดะ

        2.1 การไถดะ  เป็นการไถครั้งแรกตามแนวยาวของพื้นที่นา การไถดะจะช่วยพลิกดินเพื่อให้ดินชั้นล่างได้ขึ้นมาสัมผัสอากาศรับออกซิเจน และเป็นการตากดินเพื่อทำ ลายวัชพืช โรคพืชบางชนิด การไถดะในบางพื้นที่จะไถหลังฝนตกเมื่อดินเกิดความชุ่มชื่น บางพื้นที่ใช้การวิดน้ำเข้านาแทน การปล่อยน้ำเข้านานั้นต้องดูที่สภาพดินด้วยว่า ควรปล่อยน้ำมากน้อยเพียงไร การปล่อยน้ำเข้านา เพื่อทำให้ดินนิ่มขึ้น จะได้ไถนาได้ง่ายขึ้น หลังจากไถดะจะตากดินเอาไว้ประมาณ 1 - 2 สัปดาห์
การไถแปร


        2.2 การไถแปร (อาจเรียกว่า การตีนา) หลังจากที่ตากดินเอาไว้พอสมควรแล้ว การไถแปรจะช่วยพลิกดินที่กลบไว้เอาขึ้นมาอีกครั้งเพื่อทำ ลายวัชพืชที่ขึ้นใหม่ และเป็นการย่อยดินให้มีขนาดเล็กลง จำ นวนครั้งของการไถแปรจึงขึ้นอยูกับชนิดและปริมาณของวัชพืช ลักษณะดินและระดับน้ำ
การคราด

        2.3 การคราด เพื่อเอาเศษวัชพืชออกจากกระทงนา และย่อยดินให้มีขนาดเล็กลงอีก จนเหมาะ
แก่การเจริญของข้าว ทั้งยังเป็นการปรับระดับพื้นที่ให้มีความสมํ่าเสมอ เพื่อสะดวกในการควบคุม ดู
แลการให้นํ้า (ในบางพื้นที่การไถแปร และ การคราด จะอยู่ในขั้นตอนเดียวกัน)

วิธีการเตรียมดิน(ตอน การเก็บฟางข้าว)

วิธีการเตรียมดิน ก่อนการเพราะปลูกต้องมีการเตรียมดินเพื่อใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
     1. การเก็บฟางข้าว (ในกรณีที่เพิ่งมีการเก็บเกี่ยว) หลังการเก็บเกี่ยวจะมีทั้งฟางข้าวและต้นตอ เริ่มแรกจะต้องเก็บฟางข้าวเสียก่อน ขออนุญาติเรียกว่า  การทำความสะอาดนาข้าว ซึ่งถ้าเป็นอดีตชาวนาส่วนใหญ่จะเก็บฟางออกจากนา และเอาฟางข้าวที่ได้ไปใช้ในกิจต่างๆ แล้วแต่สมควร ประโยชน์จากฟางข้าวมีมากมาย แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน ปัจจุบันชาวนาส่วนมากนิยมเผาฟางข้าวในนา ซึ่งมีผลกระทบต่อพื้นดินมากมาย แต่ก็เพื่อความรวดเร็วในการเตรียมดิน ซึ่งไม่คุ้มกันเลยกับการสูญเสียดินดีๆ
รูปภาพ แสดงการเก็บฟางข้าว ซึ่งปัจจุบันไม่มีให้เห็นกันง่ายๆแล้ว
การเผาฟางข้าวในนาข้าว


วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

ปัจจัยในการทำนา



ปัจจัยในการทำนา คือ
                     1. สภาพพื้นดิน และภูมิอากาศ
                     2. สภาพน้ำสำหรับการทำนา
                     3. โรคระบาดในนาข้าวที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ
   ปัจจัยทั้ง3ข้อที่กล่าวมานี้ มีผลกับการทำนาทั้งสิ้น คือ การทำนา จะขึ้นอยู่กับสภาพพื้นดินและภูมิอากาศเพราะต้องดูว่าดินที่ใช้เพาะปลูกนั้น ใช้เพาะปลูกได้หรือไม่ รวมถึงต้องดูฝนว่าจะตกมาเพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าวหรือไม่ สภาพน้ำจะมากหรือน้อย รวมถึงโรคระบาดในนาข้าว
   ถ้าทำนาโดยไม่คิดถึงปัจจัยทั้งสามข้อนี้ ผลผลิตจะไม่ได้หรือได้น้อยไม่คุ้มกับต้นทุนที่ลงทุนไป

การทำนา


 การทำนา หมายถึง  การปลูกข้าว และดูแลจนกระทั่งได้เก็บเกี่ยวผลผลิต การปลูกข้าวจะขึ้นอยู่กับท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่น คือ ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ บางท้องถิ่นต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียวในการเพาะปลูกข้าวแต่บางท้องถิ่นปลูกได้ถึงปีละ3ครั้ง